Print this page

โบราณสถานดงเมืองเตย

      โบราณสถานดงเมืองเตยตั้งอยู่ภายในชุมชนโบราณดงเมืองเตย ทางทิศใต้ของบ้านดงเมืองเตย ต.สงเปือย อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร จากตัวจังหวัดยโสธร ใช้ทางหลวงหมายเลข 23 (ถนนแจ้งสนิท) มุ่งหน้าทางทิศใต้หรือมุ่งหน้าตำบลสงเปือย อ.คำเขื่อนแก้ว ประมาณ 20 กิโลเมตร เลี้ยวขวามุ่งหน้าบ้านสงเปือย ประมาณ 4.7 กิโลเมตร ถึงตัวหมู่บ้าน เลี้ยวซ้ายใช้ถนนภายในหมู่บ้านประมาณ 550 เมตร เลี้ยวซ้ายอีกประมาณ 650 เมตร ถึงตัวเนินดงเมืองเตยและสำนักสงฆ์ดงเมืองเตย โบราณสถานดงเมืองเตยตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของเนิน

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานดงเมืองเตย 2 ครั้ง คือ

  • 1. การกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ เล่มที่ 53 หน้า 1535 วันที่ 27 กันยายน 2479
  • 2. การกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานสำหรับชาติ เล่มที่ 121 ตอนพิเศษ 53ง หน้า 5 วันที่ 10 พฤษภาคม 2547

      โบราณสถานดงเมืองเตยตั้งอยู่บริเวณทางตะวันออกของเมืองโบราณดงเมืองเตย โบราณสถานหลังนี้ปัจจุบันเหลือหลักฐานเพียงฐานอาคาร ชุมชนโบราณดงเมืองเตย มีการอยู่อาศัยมายาวนาน ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยโลหะ อายุประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว จากหลักฐานทางจารึกและโบราณสถานแสดงให้เห็นถึงการได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอาณาจักรเจนละที่แพร่เข้ามายังพื้นที่นี้ ช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-13 มีการขุดคูน้ำและทำคันดินล้อมรอบเมือง ชาวเมืองโบราณดงเมืองเตยนับถือศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกายเป็นหลัก ข้อความในจารึกได้กล่าวถึงการสร้างศิวลึงค์ โบราณสถานดงเมืองเตยสร้างขึ้นในสมัยนี้และรูปแบบของโบราณสถานคงได้รับอิทธิพลจากศิลปะขอมสมัยก่อนเมืองพระนคร (พุทธศตวรรษที่ 12-14)

      ระยะต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 ชุมชนแห่งนี้คงมีการเปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนา ดังได้พบหลักฐานของการปักใบเสมาหิน ที่พบว่ามีทั้งปักอยู่บริเวณโบราณสถาน และปักในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง การอยู่อาศัยของผู้คนและพัฒนาการของชุมชนแห่งนี้ดำเนินเรื่อยมา ราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ปรากฏอิทธิพลของวัฒนธรรมเขมรที่แพร่เข้ามาอย่างชัดเจน มีการใช้ประโยชน์โบราณสถานเป็นศูนย์กลางเมืองต่อไป ดังได้พบประติมากรรมลอยตัวรูปสิงห์มีลักษณะศิลปะเขมรแบบบาปวน หลังจากกลางพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา ไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนของการอยู่อาศัยของผู้คน ณ ชุมชนแห่งนี้ หลังจากพุทธศตวรรษที่ 18 เมืองโบราณและตัวโบราณสถานแห่งนี้คงถูกทิ้งร้างเนื่องจากไม่พบหลักฐานการอยู่อาศัยในระยะต่อมาเลย

      จากการค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีของสำนักสงฆ์ดงเมืองเตย เมื่อปี 2525 และการขุดค้น-ขุดแต่งเมื่อปี 2534 สามารถแยกประเภทของโบราณวัตถุได้เป็นประเภทหินทราย ได้แก่องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม และประเภทดินเผา ได้แก่ของใช้ประเภทภาชนะดินเผาต่างๆ โบราณสถานมีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐไม่สอปูน ผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า เท่าที่ยังคงหลงเหลือสูงประมาณ 1.7 เมตร กว้างประมาณ 5 เมตร ยาวประมาณ 5.5 เมตร ฐานอาคารประกอบด้วยฐานเขียง 4 ชั้น ถัดขึ้นมาเป็นฐานบัวอันประกอบด้วยหย้ากระดานล่าง บัวคว่ำ ถัดขึ้นไปเป็นท้องไม้ ซึ่งมีการแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในมีลวดลายเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็กซ้อนกัน 3 ชั้น เหนือขึ้นไปเป็นบัวหงาย ซึ่งเรียกว่า บัวรวน และหน้ากระดานบน ฐานเขียงชั้นแรกหรือชั้นล่างสุดมีขนาดใหญ่กว่าฐานชั้นที่ 2 เป็นฐานที่ยื่นห่างออกจากตัวอาคารมาทางทิศตะวันออก โดยฐานเขียงชั้นแรกมีขนาดประมาณ 9x12.5 เมตร ฐานเขียงชั้นที่ 2 มีขนาดประมาณ 7x8 เมตร ฐานเขียงชั้นที่ 3 และ 4 มีขนาดประมาณ 6x6 เมตร

      ถัดจากฐานเขียงขึ้นไปเป็นฐานบัวอันประกอบไปด้วยหน้ากระดานล่าง บัวคว่ำ ท้องไม้ บัวหงาย และหน้ากระดานบน ระหว่างท้องไม้กับบัวคว่ำบัวหงายมีลวดบัวเล็กๆ คั่นอยู่ทั้งด้านบนและล่างอย่างละ 1 ชั้น ภายในท้องไม้มีการเจาะเป็นช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นช่วงๆ จากลักษณะที่เหลืออยู่คาดว่าน่าจะมีด้านละ 3 ช่อง โดยมีแนวอิฐคั่น ภายในช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีการทำลวดลายขีดเป็นช่องสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็กเรียงซ้อนกัน 3 แถว ลวดลายภายในช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้านี้ยังคงหลงเหลือหลักฐานอยู่ที่ด้านเหนือและตะวันตก ชั้นบัวหงายมีการประดับด้วยการทำเป็นลายบัวรวนเรียงต่อกัน คาดว่าคงเรียงต่อกันโดยตลอดแนวของบัวหงาย แต่เหลือหลักฐานเพียงบางช่วงที่ด้านทิศเหนือและตะวันตก ถัดจากบัวหงายขึ้นไปเหลือเพียงแนวอิฐที่เรียงต่อกัน 4-5 ชั้น บริเวณด้านทิศเหนือและทิศใต้ของตัวอาคารมีร่องรอยการบากอิฐเป็นหลุมเสาเข้าไปในตัวฐานอาคารหลังนี้

      อาคารหลังนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก โดยฐานเขียงชั้นที่ 1 และ 2 มีการก่ออิฐเป็นแนวยื่นออกมาทางทิศตะวันออก และมีการย่อมุมโดยฐานเขียงชั้นที่ 1 ย่อมุม 3 ช่วง ฐานเขียงชั้นที่ 2 ย่อมุม 2 ช่วง บริเวณริมทั้ง 2 มีร่องรอยของหลุมเสากลม โดยฐานเขียงชั้นที่ 1 มีรอยหลุมเสา 2 คู่ ฐานเขียงชั้นที่ 2 มีรอยหลุมเสา 1 คู่ ทางด้านเหนือและตะวันออกของด้านข้างของฐานเขียงชั้นที่ 1 ที่ยื่นออกมาทางทิศตะวันออก มีลวดลายช่องสี่เหลี่ยมขนาดเล็กอยู่ภายในช่องสี่เหลี่ยมที่มีขนาดใหญ่เรียงกัน 1 แถว บริเวณทางขึ้นด้านทิศตะวันออกติดกับฐานเขียงชั้นที่ 1 มีอัฒจรรย์ก่อเป็นรูปปีกกา 1 ชั้น ต่อจากอัฒจรรย์มีการก่ออิฐเป็นลายทางเดินด้านหน้า ยาวประมาณ 28 เมตร ช่วงระหว่างกลางลานด้านหน้ามีการก่ออิฐเป็นรูปสี่เหลี่ยมหลายชั้น ตรงกลางจะสูงกว่าส่วนอื่น บริเวณรอบตัวอาคารมีการก่ออิฐเป็นลานรูปร่างต่างๆไม่แน่นอน มีการเรียงอิฐไม่เป็นระเบียบ ชาดเป็นตอนๆ เป็นรูปร่างต่างๆ ทางทิศเหนือห่างจากฐานเขียงชั้นที่ 1 ประมาณ 1.5 เมตร มีแนวอิฐก่อเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสตรงกลางเจาะเป็นรูสี่เหลี่ยม

      การขุดตรวจเพื่อศึกษาฐานของอาคารของหน่วยศิลปากรที่ 6 บริเวณประชิดฐานด้านทิศตะวันตกของกึ่งกลางงฐาน พบว่าการวางฐานรากชั้นล่างสุดของอาคารหลังนี้เป็นทรายปนกรวดตาหนู ชั้นถัดขึ้นมามีการนำแศษตะกรันที่เกิดจากการถลุงเหล็กมาถมอัดเป็นฐานของอาคารอีกชั้นหนึ่ง ถัดจากชั้นทรายปนกรวดตาหนูที่เป็นฐานของอาคารลงไปเป็นชั้นดินซึ่งพบเศษภาชนะดินเผา รูปแบบและเนื้อภาชนะเป็นแบบเดียวกับที่ได้จากหลุมขุดตรวจชั้นวัฒนธรรมในชั้นดินธรรมชาติที่ 2 คือ เป็นภาชนะเนื้อดิน เนื้อหนาค่อนข้างหยาบ ทาน้ำดินสีแดง

ลักษณะของฐานอาคารดังกล่าวสามารถเปรียบเทียบได้กับฐานอาคารในศิลปะเขมรสมัยก่อนเมืองพระนครแบบสมโบร์ไพรกุก อายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ 12 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 13

      ส่วนฐานของโบราณสถานดงเมืองเตยสามารถเทียบได้กับฐานของโบราณสถานหัวชัย (Han Chei) ในเมืองสมโบร์ไพรกุก ประเทศกัมพูชา โดยมีการทำฐานเขียงขนาดใหญ่ 1 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวที่ประกอบไปด้วยหน้ากระดานล่าง บัวคว่ำที่ทำเรียบๆ ท้องไม้ซึ่งมีการแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในทำเป็นลายตารางหมากรุก ระหว่างช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าทำเป็นลายพันธุ์พฤกษา บัวหงาย และหน้ากระดานบน ระหว่างฐานเขียงกับหน้ากระดานล่างและบัวคว่ำมีลวดบัวคั่วอยู่ 2 ชั้น ชั้นหนึ่งทำเป็นลวดลายช่องสี่เหลี่ยม ภายในมีสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็กอยู่ ซึ่งพบที่ฐานเขียงชั้นล่างหรือชั้นแรกของโบราณสถานดงเมืองเตยด้วย

      นอกจากนี้ยังสามารถเทียบได้กับโบราณสถานหลังอื่นๆอีก เช่น ปราสาทสมโบร์ไพรกุกหมู่เหนือหลังที่ 21 ซึ่งฐานมีลักษณะคล้ายกับโบราณสถานดงเมืองเตย โดยฐานบัวชั้นล่างสุดเป็นฐานเรียบๆที่น่าจะเป็นบัวคว่ำ บริเวณท้องไม้มีการแบ่งเป็นช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในทำเป็นลายตารางหมากรุก ถัดขึ้นไปเป็นบัวหงายซึ่งมีการประดับด้วยบัวรวน เช่นเดียวกับโบราณสถานดงเมืองเตย (สมเดช ลีลามโนธรรม 2538)

      ลายขีดเป็นตารางรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดเล็ก ซึ่งอยู่ภายในช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าของโบราณสถานดงเมืองเตยนี้ มีลักษณะต่างไปจากลายตารางหมากรุก (ซึ่งมีส่วนยื่นนูนขึ้นมาสลับกัน) ของโบราณสถานที่เมืองสมโบร์ไพรกุกดังที่กล่าวมา เหตุที่เป็นเช่นนี้คงเกิดจากลักษณะศิลปะของพื้นเมืองที่มีการทำลวดลายบางอย่างเป็นของตนเอง หรือไม่ก็อยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางของศิลปะคือเมืองสมโบร์ไพรกุก จึงมีการทำลวดลายบางอย่างแตกต่างไปบ้าง แต่ก็ยังลักษณะร่วมบางอย่างที่คล้ายกัน คือการทำเป็นช่องสี่เหลี่ยม (สมเดช ลีลามโนธรรม 2538)

      อนึ่ง ลายตารางหมากรุกนี้ยังพบที่ฐานเรือนธาตุของจุลประโทน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นโบราณสถานในศิลปะทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) ในสมัยการสร้างครั้งแรก ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 12 (พิริยะ ไกรฤกษ์ 2528 : 27) และลายบัวรวนยังพบว่ามีการใช้เป็นลวดลายประดับตกแต่งสถาปัตยกรรมในศิลปะทวารวดี เช่น ชิ้นส่วนสถูปที่ค้นพบในจังหวัดนครปฐม ลายบัวรวนยังมีลักษณะคล้ายกับลายใบไม้ม้วนที่อยู่ใต้ลายพวงมาลัยและพวงอุบะของทับหลังในศิลปะเขมรแบบสมโบร์ไพรกุก ที่พบจากปราสาทเขาน้อย จังหวัดสระแก้ว ลายใบไม้ม้วนนี้ยังเหมือนกับที่พบที่ผนังปราสาทสมโบร์ไพรกุกหมู่ใต้หลังที่ 8 ด้วย (สมิทธิ ศิริภัทร และมยุรี วีระประเสริฐ 2533 : 64)

      บริเวณด้านหน้าของฐานเขียงชั้นที่ 1 ทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นทางเข้าของโบราณสถานดงเมืองเตย มีการก่ออิฐเป็นรูปอัฒจรรย์ปีกกา 1 ชั้น ศ.ชอง บวสเซอลีเยร์ (Jean Boisselier) กล่าวว่าบันไดขั้นแรกที่ก่อเป็นปีกกานี้ปรากฏอยู่เฉพาะในสถาปัตยกรรมที่ยอมรับเอาประเพณีขอมมาใช้ (ชอง บวสเซอลีเยร์ 2511 : 61) อัฒจรรย์ในศิลปะเขมรก่อนเมืองพระนครมักจะมีการซ้อนกัน 2 ชั้น เริ่มแรกนั้นจะปรากฏเป็นวงโค้งปีกกาอย่างง่ายๆ บางๆ และเชื่อมติดกันโดยใช้ลวดลายก้นหอย ดังเช่นอัฒจรรย์ที่ปราสาทไพรเจก (Prei Chek) ในศิลปะแบบไพรกเมง (ปลายพุทธศตวรรษที่ 12 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 13) (Boisselier 1966 : 195)

      อัฒจรรย์ของโบราณสถานดงเมืองเตยก่อด้วยอิฐเป็นรูปปีกกาบางๆ 1 ชั้น ปลายวงโค้งก่ออิฐเป็นรูปวงโค้งเล็กๆอย่างคร่าวๆ อาจเทียบได้กับอัฒจรรย์ของปราสาทในศิลปะเขมรช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-13 เช่น ปราสาทไพรเจก (Prei Chek) ในศิลปะแบบไพรกเมง (สมเดช ลีลามโนธรรม 2538) จากการศึกษาเปรียบเทียบลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่กล่าวมาทำให้สันนิษฐานได้ว่าโบราณสถานดงเมืองเตยนี้คงเป็นสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะเขมรสมัยก่อนเมืองพระนครที่มีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 12-13

ข้อมูลจากเว็บไซด์ : http://www.sac.or.th/databases/archaeology/archaeology/